สบู่ดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha curcas  L.
วงศ์ :   Euphorbiaceae, Pignon d’inde, Barbados nut
ชื่อสามัญ :  Physic nut
ชื่ออื่น :  พมักเยา, มะเยา, มะหัว, มะหุ่งฮั้ว, มะโห่ง, หงเทก (เหนือ), สบู่หัวเทศ, สลอดดำ, สลอดป่า, สลอดใหญ่, สีหลอด (กลาง), หงส์เทศ, มาเคาะ (ภาคใต้)

ลักษณะ :  เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 1.5 - 6 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยงเกลา ใบเรียบมี 4 แฉก มีหยักตื้นกว่าใบที่เจริญเติบโตเต็มที่ มีขนาดเท่าฝ่ามือ ลำต้น ใบ ผล และเมล็ด มีสาร hydrocyanic สังเกตได้เมื่อหักลำต้น ส่วนยอดหรือส่วนก้านใบจะมียางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม มีกลิ่นเหม็นเขียว ต้นสบู่ดำออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ข้อส่วนปลายของยอด ขนาดดอกเล็กสีเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกตัวผู้จำนวนมากและดอกตัวเมียจำนวนน้อยอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อติดผลแล้วมีสีเขียวอ่อนเป็นช่อพวงมีหลายผล เวลาสุกแก่จัดมีสีเหลือง รูปผลมีลักษณะทรงกลมขนาดปานกลาง เปลือกหนาปานกลาง มีปลูกทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ผลหนึ่งส่วนมากมี 3 พู โดยแต่ละพูทำหน้าที่ห่อหุ้มเมล็ดไว้ เมล็ดสีดำขนาดเล็กกว่าเมล็ดละหุ่งพันธุ์ลายขาวดำเล็กน้อย สีตรงปลายเมล็ดมีจุดสีขาวเล็กๆ ติดอยู่ เมื่อเก็บไว้นานจุดนี้จะหดตัวเหี่ยวแห้งลง ขนาดของเมล็ดเฉลี่ยความยาว 1.6-1.8 เซนติเมตร หนา 0.7-0.8 เซนติเมตร เมื่อแกะเปลือกนอกสีดำออกจะเห็นเนื้อในสีขาว

ประโยชน์ : เมล็ดสบู่ดำให้น้ำมัน  การสกัดน้ำมันสบู่ดำ ผลสบู่ดำแห้ง (ผลสีเหลืองถึงสีดำ) 

          น้ำมันที่ได้จากการสกัดเมล็ดสบู่ดำ สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ โดยไม่ต้องใช้ส่วนผสมและไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย กากเมล็ดสบู่ดำที่เหลือจากการสกัดน้ำมันมีปริมาณไนโตรเจนสูง ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการ จึงสามารถนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของพืชได้ 

พิษ สบู่ดำจัดเป็นพืชที่แปลกกว่าพืชอื่น เพราะทั้งต้นมีพิษ โดยจะมีสารที่เป็นกรดชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Hydrocyanic มีกลิ่นเหม็นเขียวทำให้สัตว์และแมลงไม่อยากเข้าใกล้ ดังนั้นในสมัยโบราณเลยปลูกสบู่ดำไว้เป็นรั้วกันสัตว์เข้ามารบกวน เมล็ดสบู่ดำยังมีสารพิษชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Curcin หากกินแล้วจะทำให้ท้องเดินเหมือนกับสลอด คนอีสานเลยเรียกสบู่ดำว่า สีหลอด

 

  • หน้่าแรก